ประวัติความเป็นมา

ประวัติมวยไทย
            มวยไทยเริ่มเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ และไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนเอาไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เท่าที่ปรากฏคือ มวยไทยนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว อาจเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับชาติไทยด้วยซ้ำ เพราะมวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติไทยเราจริงๆ ยากที่จะลอกเลียนแบบ
            เท่าที่ทราบมวยไทยในสมัยก่อนมีการฝึกฝนอยู่ในหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเรามีการสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในสมัยนั้นไม่มีอาวุธปืน จะสู้กันก็มีเพียงแต่ดาบในมือทั้ง 2 ข้าง และมีการประชิดตัวกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นคนไทยจึงได้หัดลูกถีบและเตะคู่ต่อสู้ไว้
            ต่อมาได้เกิดมีผู้คิดว่าจะทำอย่างไรที่จะนำเอาลูกถีบและเตะมาเป็นศิลปะสำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงมีผู้คิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้การแสดงเวลามีงานเทศกาลต่างๆไว้อวดชาวบ้านเมื่อชาวบ้านได้เห็นการถีบเตะแพร่หลายและบ่อยๆเข้า จึงได้มีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงตั้งสำนักฝึกอย่างมากมาย แต่สำหรับมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อ ดังนั้นมวยไทยในสมัยนั้นฝึกเพื่อเหตุผล 2 อย่างคือ เพ่อสู้รบกับข้าศึก และ เพื่อป้องกันตัว

ตำนานมวยไทย
            “มวยไทย” เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย ยากที่จะเลียนแบบได้ เพราะศิลปะนี้เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ได้มีการสู้รบกับชาติข้างเคียง เพื่อรักษาแผ่นดินสยามนี้มาโดยตลอด
            ดาบ พลอง กระบองสั้น คืออาวุธที่มีอยู่ในขณะนั้น และอาวุธธรรมชาติได้แก่ หมัด เท้า ศอก เข่า และปาก คือการ จับ ทุ่ม ทุบ ทับ หัก ต่อย ตี โขก ถีบ เตะ และกัด ซึ่งถือเป็นอาวุธที่มีติดกายมาแต่กำเนิดของแต่ละบุคคลก็จะถูกรื้อออกมาใช้ เมื่อศึกเข้ามาระยะประชิดตัว
            ในยุคต้นของกรุงศรีอยุธยา นักมวยจะชกกันด้วยหมัดเปล่า แต่ขึงเชือกกั้นบริเวณเอาไว้ อาศัยพื้นดินพื้นเวที ใช้กะลาเจาะตาลอยน้ำหงายขึ้น เรียกว่า “อัลลอย” พอน้ำเข้ากะลาจนมิด เรียกว่า “อันจม” หมายถึงจบ 1 ยก
            แม้ว่ากีฬาเกี่ยวกับการชกมวยไทยจะยอมรับกติกามวยแบบสากลแล้วก็ตาม แต่ในส่วนพื้นฐานจริงๆของความเป็นมวยไทย เรายังรักษาไว้ มั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้คือ ยังคงใช้ หมัด เท้า ศอก เข่า อันเป็นเอกลักษณ์ของมวยไทยอยู่อย่างเหนียวแน่น
           

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช : กษัตริย์จำเป็นต้องฝึกศิลปะการป้องกันตัวและวิชาการทหาร เพื่อป้องกันประเทศ เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาต้องรับศึกอันเนื่องมาจากการรุกรานจากอาณาจักรใกล้เคียงอยู่เป็นประจำ ทหารทุกคนต้องฝึกมวยควบคู่กับอาวุธในมือสมัยใหม่ให้เกิดความชำนาญ อาวุธสมัยนั้นมีตั้งแต่ ดาบ เขน ทวน หอกใหญ่ หอกคู่ ธนู มีดสั้น ขวาน ง้าว กริช
            กรุงศรีเสียให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2112 ข้าศึกยึดตัวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้เป็นตัวประกันที่พม่า นอกจากฝึกวิทยายุทธแล้ว ยังทรงตีไก่ และชกมวยกับพระมหาอุปราชแห่งพม่าอีกด้วย
            กระทั่งปี พ.ศ. 2114 พระมหาธรรมราชา พระบิดาได้ส่งพระสุพรรณกัลยา พระธิดา ไปถวายแก่บุเรงนอง จึงยอมคืนตัวพระนเรศวรมหาราชกลับไทย พระมหาธรรมราชาให้ปกครองเมืองสองแคว ต่างพระเนตรพระกรรณ
เนื่องจากพระนเรศวรมหาราชเป็นพระโอรสองค์โต จะต้องสืบราชสมบัติต่อจากพระบิดา และได้รับการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ทุกรูปแบบ เพื่อปกครองประเทศ และทรงประกาศอิสระภาพสำเร็จในปี พ.ศ. 2127


ภาพจาก baanjomyut.com

            พระยาพิชัยดาบหัก : ทหารเอกของ พระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อสู้กับพม่าจนดาบหักแล้วยังไม่ยอมทิ้งอาวุธ เดิมชื่อ “นายจ้อย” เมื่ออายุย่างเข้า 20 จึงเปลี่ยนชื่เป็น “นายทองดี หลบหนีออกจากบ้านไปอยู่กับ
พระครูซึ่งเป็นพระหมออยู่ที่วัดเขาแก้ว จ. ตาก
            สองเดือนต่อมา ทราบข่าวว่าพระยาตากทรงโปรดปรานการชกมวย และจะมีการชกมวยเกิดขึ้นในอีกสองวันต่อมา นายทองดีจึงตัดสินใจไปสนามเปรียบมวยและแจ้งต่อนายสนามให้หาคู่ชกให้ ชาวบ้านต่างแปลกใจไม่เคยเห็นชายแปลกหน้าผู้นี้
การเปรียบมวยในวันนั้นปรากฏว่าไม่มีคู่ไหนเหมาะสมกันเลย เว้นแต่ นายห้าว ครูมวยขึ้นคาน เรื่องรู้ไปถึงพระครู พระครูตกใจเรียกนายทองดีกลับมาอบรมว่ากำแหงหาญมากไปหน่อยแล้ว แม้เป็นมวยขึ้นคาน แต่ชาวตากรู้ถึงฝีมือและจำนวนศิษย์ที่มี หากนายห้าวชนะนายทองดีก็จะถูกตราหน้าว่า บังอาจไปเทียบมือกับครูมวยผู้มีชื่อ หากนายห้าวแพ้ ลูกศิษย์ก็ย่อมได้รับความอับอาย มีหรือนายทองดีจะรอดพ้นความตายไปได้ ทองดีเชื่อฟังและไม่ไปชกมวยในวันนั้น
            พระยาตาก ซึ่งสนใจมวยคู่นี้มาก แต่นายทองดีไม่ได้มาในวันนี้ จึงได้มีการถามไถ่จนรู้เหตุ พระยาตากรับรองความปลอดภัยให้ การชกจึงเริ่มขึ้น ทองดีใช้ไม้แกล้งล้ม (ปัจจุบันห้ามใช้) ตามด้วยดับชวาลา ศอกซ้าย-ขวาสับลงกลางกระหม่อม ตามด้วยหมัดขวาเข้าครึ่งปากครึ่งจมูก ซ้ำหมัดซ้าย และเตะด้วยตีนซ้ายเข้าที่ขมับ และตีนขวาเข้าที่ขากรรไกรอย่างแรง
            ตามคำของเซียนมวยโบราณเรียกว่า “พันลำ” ทำให้นายห้าวแพ้อย่างหมดรูป พระยาตากพอใจยิ่ง จึงเรียกไปใช้ราชการและเติบโตขึ้นเรื่องๆจนกลายเป็นพระยาพิชัยดาบหัก


ภาพจาก thaiyuth.blogspot.com

            นายขนมต้ม : กรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 กองกำลังของพม่ากวาดต้อนคนไทย ไปเป็นเชลยจำนวนมาก รวมทั้งนักมวยหลายคน หนึ่งในนั้นคือ นายขนมต้ม
            ครั้นปี 2313 พระเจ้ามังระ มีพระประสงค์จัดงานสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ ได้สั่งให้จัดมวยหน้าพระที่นั่งขึ้น เพื่อทอดพระเนตรระหว่างนักมวยไทยกับนักมวยพม่า  เมื่อเชลยไทยในพม่ารู้ว่านักมวยไทยจะขึ้นชกกับนักมวยพม่านั้นชื่อ นายขนมต้ม ก็พากันส่งเสียงร้องให้กำลังใจกึกก้อง
            ปรากฏว่า นายขนมต้ม ปราดเข้าตีเข่ากับศอกพร้อมชกหน้าอกคู่ต่อสู้ถึงกับสลบ นักมวยพม่าได้ดาหน้า เช้ามาชกและแพ้กลับไปอีก 6 คนสร้างความประทับใจแก่พระเจ้ามังระยิ่ง ถึงกับตรัสว่า “คนไทยช่างมีฝีไม้ลายมือดุจเสือซ่อนเล็บอยู่ทุกด้าน ไม่นึกเลยว่าจะเก่งกาจถึงปานนี้ ถ้าเจ้านายไทยสามัคคีปรองดองกันดีแล้ว กรุงศรีอยุธยาจะไม่เสียแก่พม่าเลย...”
            นับว่านายขนมต้ม เป็นนักมวยเอกคนแรกของไทย ที่ได้ประกาศศักดาแห่งมวยไทยถึงต่างประเทศ จนแม้แต่ประวัติศาสตร์พม่าก็ต้องจารึกไว้ตลอดไปว่า “...ไทยมีพิษสงอยู่ทั่วตัว แม้มือเปล่าๆ ไม่มีอาวุธเลย คนเดียวแท้ๆ ก็ยังเอาชนะได้หลายคน ฝีมือมวยแสนวิเศษ..."





Creative Commons License
history by jean is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น